อุดมศึกษาทั่วโลกกำลังเผชิญกับประเด็นท้าทายต่างๆ มากมาย สืบเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ รวมทั้งค่านิยมและพฤติกรรมของนักศึกษาในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น มหาวิทยาลัยทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนเป็นอย่างมากเพื่อให้สามารถรับประเด็นท้าทายดังกล่าวได้อย่างมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ และหน่วยงานหลักที่จะเป็นพลังสำคัญในระดับปฏิบัติสำหรับการนี้คือ “คณะ” ซึ่งรับผิดชอบทั้งงานด้านการเรียนการสอน  การวิจัย และการบริการวิชาการ ซึ่งในการบริหารการเปลี่ยนแปลงนี้ คณบดี จึงต้องมีความรอบรู้ และมีทักษะในด้านการบริหารงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ตลอดจนการพัฒนาคณะในมิติต่างๆที่เป็นลักษณะเฉพาะของคณะนั้นๆทุกมิติ จึงจะสามารถบริหารคณะให้ประสบความสำเร็จและสามารถแข่งขันได้ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้  ซึ่งการให้ความสำคัญของคณบดีนี้ ไม่ว่าคณบดีจะมีประสบการณ์มาก่อนมากเพียงใดก็ตาม ก็มีประเด็นที่จะเรียนรู้ใหม่ๆได้เสมอทั้งจากวิทยากรที่มีประสบการณ์และจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริหารคณะด้วยกันเอง

       สถาบันคลังสมองของชาติ จึงได้พัฒนาหลักสูตร “คณบดีเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ขึ้น ตั้งแต่ปี 2555 โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน 3 แห่ง คือ German Academic Exchange Service (DAAD), German Rectors’ Conference (HRK), และ Centre for Higher Education Development  (CHE) ของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดทำหลักสูตร International Deans’ Course (IDC) รวมทั้งได้รับข้อเสนอแนะจากผู้มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในด้านการบริหารระดับคณะของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยซึ่งทำให้หลักสูตร “คณบดีเพื่อการเปลี่ยนแปลง” มีความเป็นสากลในขณะเดียวกันก็มีความสอดคล้องกับบริบทของประเทศและผู้เข้าร่วมหลักสูตรมีโอกาสสร้างเครือข่ายกับคณบดีในภูมิภาคอาเซียน โดยหลักสูตรนี้ เน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ ผ่านโครงการปฏิบัติการ (Project Action Plan – PAP) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรได้ทดลองใช้หลักการที่เรียนมากับสถานการณ์จริง และเป็นส่วนที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมได้ประโยชน์จากหลักสูตร DFC จริง สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงในคณะ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสร้างความตระหนักในบทบาทที่สำคัญของคณบดีในการบริหารจัดการและพัฒนาคณะในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง และสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนทักษะในประเด็นสำคัญต่างๆ ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงคณะให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัยและการบริการวิชาการ
  2. เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ แนวคิด หลักการ และวิธีปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการคณะกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  3. เพื่อส่งเสริมการสร้างความร่วมมือระหว่างคณบดีของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและกับคณบดีในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อเสริมสร้างความเป็นนานาชาติของคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยของไทย

เนื้อหา

รูปแบบ

            ประกอบด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากรที่มีประสบการณ์ตรงในประเด็นดังกล่าว  การอภิปราย การทำกรณีศึกษา การทำงานกลุ่ม  การวิเคราะห์สิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละวัน การศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และการดำเนินการตามโครงการปฏิบัติการตลอดระยะเวลา 7 เดือน ที่เข้าร่วมหลักสูตร

กลุ่มเป้าหมาย

คณบดี รองคณบดีหรือผู้บริหารระดับอื่นที่มีความมุ่งมั่น มีวิสัยทัศน์ ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในคณะ จำนวน 30 คน

สิ่งที่จะได้รับ

จากการดำเนินการหลักสูตรทั้งสามรุ่นที่ผ่านมา พบว่าหลักสูตรคณบดีเพื่อการเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งคณะ/มหาวิทยาลัย และบุคคล ดังนี้

ระดับคณะ/มหาวิทยาลัย

  • โครงการ PAP บางโครงการ นำไปสู่การปฏิบัติจริงในระดับคณะเมื่อจบหลักสูตร รวมทั้งขยายผลไปยังคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย เช่น โครงการบูรณาการ KPI ของมหาวิทยาลัยกับการขึ้นเงินเดือนของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  โครงการเพิ่มทักษะในการวิเคราะห์ การใช้เหตุผล และการแก้ปัญหาของเนื้อหาวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และโครงการระดมทุนเพื่อการพัฒนาคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นต้น
  • ​ผู้เข้าร่วมหลักสูตรบางท่าน ได้เจรจาเรื่องความร่วมมือในด้านวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัยของเยอรมนีทันทีขณะศึกษาดูงาน เช่น คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับ SRH Heidelberg ได้พัฒนาความร่วมมือด้านการเรียนการสอนสาขา Music Therapy เป็นต้น
  • ​มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น European University Vadriana, KIT, และ SRH มีความสนใจที่จะพัฒนาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ทั้งในด้านการเรียนการสอน และ Summer School โดยมีการติดต่อกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยทันทีหลังจากกลับจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีแล้ว
  • ​ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในเยอรมนี เช่น  Berlin School of Economics and Law ได้เดินทางมาประเทศไทยหลังจากการศึกษาดูงาน เพื่อพัฒนาความร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์และคณะบริหารธุรกิจของประเทศไทย และได้เซ็น MOU ความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยไทยด้วย

ระดับบุคคล

  • ผู้เข้าร่วมหลักสูตร ได้แนวคิด มุมมองและประสบการณ์ใหม่ๆ ในการบริหารจัดการคณะและมหาวิทยาลัยทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน การพัฒนาการเรียนการสอน และการวิจัย และความร่วมมือกับธุรกิจอุตสาหกรรมจากประสบการณ์จริงของมหาวิทยาลัยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
  • เกิดการสร้างเครือข่ายและพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างผู้เข้าร่วมหลักสูตร มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการคณะ/ มหาวิทยาลัย ระบบคุณภาพของอุดมศึกษาทั้งของไทยและเยอรมนี  ตลอดจนการสร้างความร่วมมือทางวิชาการทั้งกับมหาวิทยาลัยไทย และมหาวิทยาลัยในเยอรมนีมากขึ้น 
  • ผู้เข้าร่วมหลักสูตร ค้นพบตัวเอง มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในคณะ เปลี่ยนแปลงทัศนคติในการบริหารงาน วิธีคิด เพิ่มความเชื่อมั่นในการบริหารงานคณะ
  • ผู้เข้าร่วมหลักสูตรบางท่าน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบริหารที่สูงขึ้นหลังจากสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรคณบดีเพื่อการเปลี่ยนแปลง เช่น ตำแหน่งอธิการบดี  รองอธิการบดี และ คณบดี เป็นต้น
  • ผู้เข้าร่วมหลักสูตรมีโอกาสสูงในการได้รับทุนสนับสนุนเข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานทางวิชาการและโครงการฝึกอบรมในระดับนานาชาติจากหน่วยงานพันธมิตรของสถาบันคลังสมองของชาติ เช่น German Academic Exchange Service (DAAD),  Higher Education Academy (HEA) ของประเทศสหราชอาณาจักร และ SIDA (Swedish International Development Collaboration Agency) ของประเทศสวีเดน เป็นต้น

ติดต่อ 
คุณรัชนี บุญพา โทรศัพท์ : 02-640-0461 ต่อ 122         E-mail   : ratchanee@knit.or.th
คุณสมเกียรติ กิตติเมธาวีนันท์ : 02-640-0461 ต่อ  123  E-mail   : somkiat@knit.or.th
โทรสาร  : 02-640-0465 (อัตโนมัติ)