ปัญหาเรื่องน้ำของไทย นอกจากจะเป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ยังมีเรื่องของนโยบายของภาครัฐ และการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และถ้าว่ากันไปจริงๆ แล้ว ส่วนใหญ่เราจะโทษเรื่องของธรรมชาติและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แต่หากวิเคราะห์ลึกๆ แล้ว เหตุของธรรมชาติเป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้น และสามารถป้องกันหรือแก้ไขได้ ถ้ามีนโยบายและการปฏิบัติที่ชัดเจน

เรื่องภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ แต่ก็เป็นฤดูกาลและมีวัฏจักร อย่างไรก็ตามแนวโน้มในอนาคตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เช่น บอกว่าปัญหาภูมิอากาศจะเลวร้ายขึ้นทุกปี ซึ่งก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าจริงหรือไม่ เรื่องทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ต้องมีความชัดเจน เพราะว่าถ้าไม่ชัดจะเดินหลงทางได้ องค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ในปัจจุบันยังมีไม่พอที่จะให้คำตอบที่ชัดเจนได้ จึงยังไม่เพียงพอที่จะนำมาสู่การทำนโยบายสาธารณะที่เหมาะสม นั่นก็หมายความว่าใครก็ตามที่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่างในลักษณะที่ให้ข้อมูลอย่างละเอียดมากจนถึงขั้นบอกได้ว่าเมื่อนั้นเมื่อนี้จะเกิดแผ่นดินไหว หรือสึนามิ ล่วงหน้าเป็นเดือนๆ หรือเป็นปีๆ จึงไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าใดนัก

เรื่องการกำหนดนโยบายน้ำของภาครัฐนั้น จะเห็นได้ว่ามีการออกนโยบายในทุกรัฐบาล ความจริงนโยบายเหล่านี้มีอยู่ แต่ไม่เป็นเอกภาพ มีนโยบายกรม นโยบายกระทรวง นโยบายของรัฐ นโยบายของนักการเมือง แต่ไม่ค่อยบูรณาการ และไม่มีเอกภาพ และที่สำคัญคือไม่ยั่งยืน เพราะว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็มักจะรื้อของเก่าทิ้ง จึงไม่เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ตรงนี้คือสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศ ไม่ได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากเรื่องนโยบายจะเป็นปัญหาแล้ว ในด้านการปฏิบัติก็มีปัญหาไม่น้อยกว่ากัน ยกตัวอย่าง น้ำท่วมปี 2554 มีความสับสนวุ่นวายในทางปฏิบัติ และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จนกระทั่งเกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งเรื่องความเสียหายทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เพราะว่าการจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมในปีนั้น มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพพอมาถึงเมื่อปีที่แล้ว ก็เกิดปัญหาภัยแล้ง ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติก็ไม่มีประสิทธิภาพ แต่อาศัยโชคช่วยคือมีฝนตกลงมา จึงทำให้ปัญหาดังกล่าวบรรเทาไป แล้วก็ไม่มีใครพูดถึงปัญหาภัยแล้งอีก จนกว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำขึ้นมาใหม่ และล่าสุดคือน้ำท่วมภาคใต้ ก็ไม่มีระบบในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม แสดงว่าการปฏิบัติในอดีตยังต้องการการปรับปรุงอีกมาก

ข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำของไทยในอนาคตนั้น คงต้องอาศัยพลังประชารัฐหมายความว่าทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก และเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาใหญ่ระดับชาติ หากไม่เกิดการมีส่วนร่วมแล้ว ปัญหาเหล่านี้มักจะไม่มีโอกาสได้รับการแก้ไข คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังต่อเกี่ยวกับข้อเสนอแนะของ ดร. อาณัติ อาภาภิรม ซึ่งได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดและให้ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์และมีโอกาสประสบความสำเร็จครับ

พีรเดช ทองอำไพ
Thursday, October 13, 2559 BE