เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการจัดสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง นโยบายน้ำไทย: ฐานความรู้เพื่ออนาคต ซึงเป็นงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. และมีอีกหน่วยงานหนึ่งทำหน้าที่ประสานงานคือ สถาบันคลังสมองของชาติ ผลงานดังกล่าวได้รวบรวมนโยบายน้ำที่รัฐได้กำหนดขั้นตั้งแต่อดีตสมัยสุโขทัย สมัยอาณาจักรล้านนา มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็น่าแปลกใจว่าในทุกยุคทุกสมัยมีนโยบายจัดการน้ำทั้งสิ้น แต่ว่าทำไปปัญหาเรื่องน้ำจึงยังไม่ได้หมดไป จากผลการวิจัยดังกล่าวซึ่งนอกจากจะเป็นการมองสถานการณ์ย้อนหลังในอดีตมาจนถึงปัจจุบันแล้ว ถ้ามองในแง่อนาคตว่าเราควรจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรดี จึงได้มีการเชิญ ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ อาภาภิรม ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของโครงการนี้ มาบรรยายพิเศษในมุมมองนโยบายน้ำเพื่ออนาคต ซึ่งจากการสัมมนาดังกล่าวมีผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการน้ำ เข้ามาฟังกันมากมาย และหวังว่าแนวความคิด พร้อมกับข้อมูลความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้ น่าจะมีการนำไปใช้ในทางปฏิบัติให้เกิดผลได้บ้าง

ในทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่โบราณ ผู้ปกครองบ้านเมืองในสมัยนั้น หรือแม้กระทั่งภาครัฐในปัจจุบันมองเรื่องการจัดการน้ำว่าเป็นภารกิจของภาครัฐ ที่ต้องดำเนินการแก้ปัญหาให้ประชาชนให้ได้ ปัญหาใหญ่เกี่ยวกับเรื่องน้ำก็มีอยู่สามด้านด้วยกันคือ ปัญหาขาดแคลนน้ำหรือภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย และปัญหาคุณภาพน้ำหรือน้ำเสีย ถึงแม้ว่าจะมีการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งสามนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่ปัญหาทั้งสามอย่างนี้ก็ยังอยู่อย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น งานวิจัยนี้จึงได้พยายามใหม่ โดยมีความหวังว่าจะเห็นการบริหารจัดการน้ำในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นักวิจัยคือ ดร. โสภณ ชมชาญ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อมมาช้านาน จึงได้ทำโครงการนี้ขึ้นมา

เมื่อจะแก้ปัญหา ก็ต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาให้ลึกซึ้งก่อนว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง และปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไร ปัญหาเรื่องน้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำ น้ำท่วมหรือน้ำเสีย ส่วนใหญ่มาจากคนทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเรื่องน้ำท่วม ปัญหานี้ในหลายๆ แห่งเกิดมาจากฝนตกหนักแล้วไหลลงจากภูเขาเพื่อลงทะเล แต่ว่าถ้าเส้นทางถูกปิดกั้น ไม่ว่าจะเป็นถนน หมู่บ้าน หรือโรงแรมรีสอร์ทต่างๆ แล้ว การไหลของน้ำก็เกิดอุปสรรคขึ้นมาทันที ผลก็คือพื้นที่ที่ปกติแล้วน้ำไม่ท่วม หรือท่วมอย่างมากก็ระยะสั้นมากเพื่อรอให้น้ำไหลลงทะเล แต่ถ้ามีการปิดกั้นทางไหลของน้ำ ผลก็คือน้ำท่วมขังอย่างที่เห็นและก่อให้เกิดความเสียหายตามมาอย่างมาก ปัญหาน้ำเสียก็เช่นกัน คงไม่ต้องอธิบายมากว่าสาเหตุของน้ำเสียส่วนใหญ่มาจากอะไร

ถ้าวิเคราะห์สภาพของปัญหา และความรุนแรงแล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน อย่างแรกคือ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประเด็นที่สองคือ นโยบาย และที่สำคัญคือปัจจัยที่สามคือ การปฏิบัติ หลายคนไปโทษว่าปัญหาอยู่ที่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ความจริงแล้วสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพิ่งเด่นชัดเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แสดงว่าการแก้ปัญหาที่ไม่ได้ผลและความรุนแรงยังมีอยู่น่าจะมีสาเหตุหรือปัจจัยหลักอยู่ที่คน นั่นก็คือ นโยบายและการปฏิบัติมากกว่า ไว้คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังในรายละเอียดต่อไปครับ

พีรเดช ทองอำไพ
Thursday, January 19, 2560