ข้อเสนอแนะของ ดร. อาณัติ อาภาภิรม เกี่ยวกับแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำของไทยในอนาคตนั้น อย่างแรกคือคงต้องอาศัยพลังประชารัฐ หมายความว่าทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเอกชน ประชาชน และภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ถ้าย้อนหลังไปในสมัยสุโขทัยและล้านการแก้ปัญหาเรื่องน้ำเป็นภาระของรัฐล้วนๆ ประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องน้อยมาก และยิ่งเป็นเอกชนก็แทบไม่มีเลยปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาที่ทุกคนได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงควรต้องให้ภาคส่วนเหล่านั้นเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและแก้ไข

เรื่องการมีส่วนร่วมนั้น ภาคประชาชน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการได้หลายขั้นตอน ถึงแม้ปัจจุบันมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกๆ กระบวนการ แต่ว่าส่วนใหญ่ยังเป็นนามธรรม เช่นการมาร่วมประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการมีส่วนร่วมและเป็นเวทีสร้างความชอบธรรม แต่ความมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงยังเกิดขึ้นน้อยมาก สิ่งหนึ่งก็คือเรื่องของความตระหนักในหน้าที่ของแต่ละคนว่าต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ยกตัวอย่างเช่นปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายครั้ง นอกจากเป็นปัญหามาจากเรื่องน้ำมามากหรือฝนตกมากแล้ว ก็ยังมีเรื่องของทางระบายน้ำอุดตัน เพราะแต่ละบ้านเรือนทิ้งขยะลงมา หรือมีการสร้างอาคารบ้านเรือน โรงแรมหรือรีสอร์ทขวางทางน้ำหรือปิดกั้นทางน้ำ จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมที่แก้ไขไม่ได้ เพราะว่าประชาชนเป็นผู้มีส่วนในการสร้างปัญหาเหล่านั้นขึ้นมาเองเพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการแก้ปัญหา หากเป็นเช่นนี้ ปัญหาต่างๆ คงแก้ไขไม่ได้หากไม่ให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทโดยตรงในการแก้ปัญหาเหล่านี้

ภาคเอกชนก็ต้องการการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำเช่นกัน แต่ปัญหาคือภาครัฐไม่สามารถสนองความต้องการของภาคเอกชนได้หรือยังไม่อาจใช้ประโยชน์จากภาคเอกชนได้เต็มที่ อาจเนื่องจากติดขัดในเรื่องของระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ และกฎหมายที่ไม่ทันสมัย ความจริงแล้วภาคเอกชนสามารถเข้ามาแบ่งเบาภาระของรัฐได้ ถ้าได้รับการตอบแทนที่ยุติธรรม เพราะว่าการทำงานของเอกชนมีประสิทธิภาพสูงกว่าเนื่องจากว่าต้องใช้สัญชาติญาณเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นถ้าภาครัฐสามารถสร้างกฎกติกาหรือมาตรการที่เป็นธรรมและจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนบริหารจัดการเรื่องน้ำบางส่วนโดยใช้ประโยชน์จากความมีประสิทธิภาพในการทำงานของเอกชนเป็นเกณฑ์ ก็น่าจะทำให้การบริหารจัดการน้ำมีโอกาสเป็นไปได้สูงและมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจบำบัดน้ำเสียของต่างประเทศหลายประเทศที่สามารถดำเนินการได้อย่างดี เป็นเพราะเอกชนเป็นผู้ลงทุนดำเนินการ

แนวคิดเรื่องการรวมศูนย์นโยบายหรือนโยบายที่เป็นเอกภาพ เป็นประเด็นสำคัญมาก และเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาใหญ่ระดับชาติ ปัจจุบันคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ซึ่งเกิดขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี และมีกรมหนึ่งในกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นเลขานุการ มีคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขา ซึ่งตั้งโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดนี้ไม่มีเอกภาพและไม่ได้ทำงานร่วมกัน ดังนั้น สิ่งที่ควรจะต้องมีคือพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดที่ได้จากข้อเสนอในเวทีเสวนา“นโยบายน้ำไทย ฐานความรู้เพื่ออนาคต” ซึ่งเป็นมุมมองนโยบายน้ำในอนาคต โดย ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ อาภาภิรม ครับ

พีรเดช ทองอำไพ
Thursday, October 13, 2559 BE