หลักการเหตุผล

บทบาทในการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมอันเป็นภารกิจที่ 4 ของสถาบันอุดมศึกษาไทย เป็นบทบาทที่ท้าทายทั้งในด้านการอนุรักษ์ พิทักษ์ และพัฒนา มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมทั้งด้านกายภาพและมโนภาพ มีต้นทุนที่เป็นทั้งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ (tangible and intangible cultural heritage)ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งมีนโยบาย โครงสร้าง กลไก และการดำเนินโครงการเพื่อให้บรรลุถึงภารกิจนี้ ผ่านการตีความที่แตกต่างกันไปตามบริบทต้นทุนของแต่ละสถาบัน

การนำทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาการของอุดมศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปะ ไปใช้เพื่ออำนวยและหนุนเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ พิทักษ์ และพัฒนา ที่ยึดโยง “คุณค่า” และ “มูลค่า” ของทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่ เป็นกระบวนการสำคัญและท้าทายการตอบโจทย์ภารกิจที่ 4 ของสถาบันอุดมศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ดังมีบทเรียนความสำเร็จที่ปรากฏอยู่ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

หลักสูตร ภารกิจที่ 4 กับการจัดการเพื่อพัฒนาพื้นที่ทางวัฒนธรรม เป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อติดตั้งเครื่องมือการพัฒนาผ่านมิติการจัดการพื้นที่ทางวัฒนธรรม ที่จะช่วยสนับสนุนหรือสร้างพื้นที่แสดงตัวตนทางศิลปะและวัฒนธรรมผ่านช่องทางและรูปแบบต่างๆทั้งด้านกายภาพและมโนภาพ ที่ไม่ใช่การจัดกิจกรรมเฉพาะกิจชั่วครู่ชั่วคราว (events) แต่เป็นพื้นที่ที่มีการปะทะสังสรรค์ของศิลปะและวัฒนธรรมผ่านวิถีชีวิตของชุมชน ที่ร้อยรัดทั้งการกิน การอยู่ ความเชื่อ ค่านิยม และการประกอบสัมมาชีพ

สถาบันคลังสมองของชาติจัดให้มีหลักสูตรนี้ขึ้น โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือการสำรวจและบ่งชี้ความเข้มแข็งของแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่นำไปสู่การวางแผนจัดการพื้นที่วัฒนธรรมชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของพื้นที่ชุมชนนั้นๆ ปรากฏการณ์ ณ พื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลา ซึ่งอยู่ระหว่างการผลักดันให้เป็นเมืองมรดกโลกเช่นเดียวกันกับการผลักดันเมืองเชียงใหม่สู่การเป็นเมืองมรดกโลก โดยความร่วมมือระหว่างชุมชน สถาบันอุดมศึกษา และภาครัฐท้องถิ่น และเมืองจอร์จทาวน์เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองมรดกโลกโดย UNESCO แล้วนั้น เป็นพื้นที่ปฏิบัติการและศึกษาเรียนรู้เชิงประจักษ์ในด้านการอนุรักษ์ พิทักษ์ และพัฒนา ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการส่งเสริมสัมมาชีพของชุมชน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรจากสาขาวิชาต่างๆที่มีเป้าหมายจะนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมหลักสูตรไปใช้ในการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อการจัดการและการพัฒนาพื้นที่ในมิติของศิลปะและวัฒนธรรมอันหมายรวมถึงเป็นแนวปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบต่อการบรรลุภารกิจที่ 4และตอบโจทย์การนำวิชาการไปรับใช้สังคมของสถาบันอุดมศึกษาต่อไป

ขอบเขตเหนื้อหา

แนวคิด กระแสโลก ประวัติศาสตร์ และกระบวนการจัดการพื้นที่ทางวัฒนธรรมผ่านกระบวนการจัดทำแผนที่ทางวัฒนธรรมเมืองมรดกโลก

  • ย่านเมืองเก่าสงขลา
  • จอร์จทาวน์-เมืองมรดกโลก เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย
  • เมืองเก่าเชียงใหม่
ลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ (Study Visit) ประสบการณ์การสำรวจและบ่งชี้มรดกทางวัฒนธรรม ณ ย่านเมืองเก่าสงขลา และ จอร์จทาวน์ เมืองมรดกโลก เกาะปีนัง
ลงพื้นที่ทดลองปฏิบัติงาน (Field Work) ณ ย่านเมืองเก่าสงขลา
  • แบ่งกลุ่มทดลองลงพื้นที่เพื่อฝึกใช้เครื่องมือ
  • คืนข้อมูลสู่ชุมชน

วิทยากร

  • อ.ดร.จเร สุวรรณชาต – ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
  • อ.อิศรา กันแตง – คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  • รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ – คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คุณชนินทร์ สาครินทร์ – รองนายกสมาคมภาคีคนรักเมืองสงขลา
  • คุณสมศักดิ์ ตันติเศรณี – นายกเทศมนตรีนครสงขลา
  • วิทยากรชุมชนในจังหวัดสงขลา
  • ผู้ทรงคุณวุฒิจาก Penang Heritage Trust
  • Dr. Janet Pillai – อดีตอาจารย์ประจำ School of Arts – University of Science Malaysia, Penang  ผู้เขียนหนังสือ Cultural Mapping: A Guide to Understanding Place, Community and Continuity  ผู้ก่อตั้ง Arts-Ed องค์กรพัฒนาเอกชน ที่นำกระบวนการทางศิลปะศึกษาไปใช้ในการพัฒนาชุมชนและมรดกทางวัฒนธรรม

กำหนดการ

ลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ คลิ๊กที่นี่
เปิดรับสมัคร ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 6 มกราคม 2560
ปิดรับสมัคร 6 มกราคม 2560
วันสุดท้ายของการชำระค่าลงทะเบียนพร้อมส่งสำเนาหนังสือเดินทาง

(หนังสือเดินทางต้องมีอายุการใช้งานเหลืออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 เดือนในวันเดินทาง) 10 มกราคม 2560

ค่าลงทะเบียน

พักเดี่ยว   42,000.-

พักคู่       39,000.-
ครอบคลุมค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้
  • ค่าลงทะเบียน พร้อมเอกสารประกอบหลักสูตร 1 ชุด
  • ค่าที่พัก 4 คืน ณ โรงแรมสงขลาเมอร์เมด จังหวัดสงขลา และ ค่าที่พัก 1 คืน ณ โรงแรมซิตี้เทล ปีนัง
  • ค่าอาหารมื้อหลัก อาหารว่าง และเครื่องดื่มระหว่างการเข้าร่วมหลักสูตร
  • ค่าเดินทางภายในจังหวัดสงขลา ค่าเดินทางโดยรถบัสจากจังหวัดสงขลาสู่ปีนัง และค่าเดินทางภายในปีนังระหว่างการเข้าร่วมหลักสูตร
  • การรับ-ส่งระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่และสถานที่จัดหลักสูตรตามตารางที่กำหนด
  • ค่าธรรมเนียมเข้าชมสถานที่
  • ค่าประกันการเดินทางต่างประเทศ
ค่าลงทะเบียนเข้าร่วมหลักสูตร ไม่รวมค่าหนังสือเดินทาง และค่าเดินทางไป-กลับ ระหว่างภูมิลำเนาของผู้เข้าร่วมหลักสูตรกับจังหวัดสงขลา

 

ติดต่อ

สถาบันคลังสมองของชาติ
อาคารอุดมศึกษา 2ชั้น 19
เลขที่ 328ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
คุณสุชาวดี เพชรพนมพร มือถือ 098-487-7487Cherie_dm@yahoo.com

โทร. 02-126-7632-34โทรสาร 02-126-7635